การดูแลสุขภาพที่บ้าน

รายละเอียด

การดูแลสุขภาพที่บ้าน

          ในการออกแบบระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล บ่อยครั้งที่ผู้ดูแลระบบไม่รู้รายละเอียด ลักษณะงาน หรือคำนิยามที่เกี่ยวข้อง ของทีมต่างๆ ในโรงพยาบาล กรณีหนึ่งที่มีคำถามกันบ่อยๆ เช่น เรื่องการเยี่ยมบ้าน ซึ่งในกลุ่มแอดมิน มักคุยกันแค่ว่าลงข้อมูลได้ point หรือไม่ ลง One stop service ไ้ด้หรือไม่ ซึ่งก็มีคำตอบที่แตกต่างกันไป บางคนบอกว่าเป็นหนึ่งมาตรฐานบริการ 4 มิติ เป็นงานสำรวจชุมชนไม่ใช่งานรักษา แต่บางคนก็แย้งว่า ไม่เสมอไปการเยี่ยมบ้านบางครั้งเป็นการออกไปติดตามการรักษา เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ไม่สะดวกที่จะมารักษาพยาบาล ทีมโรงพยาบาลออกไปให้บริการที่บ้าน น่าจะลงข้อมูลได้ ฯลฯ ซึ่งบางทีคงต้องไปดูนิยาม ความหมายของการเยี่ยมบ้านว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบในการอธิบายให้ทีมเยี่ยมบ้านให้เข้าใจในแนวทางเดียวกันว่า ข้อมูลเยี่ยมบ้าน ควรลงบันทึกใน HOSxP อย่างไร


การดูแลสุขภาพที่บ้าน (Home health care)
การดูแลสุขภาพที่บ้าน หมายถึง แบบแผนการดูแล, ให้บริการที่เป็นทางการ, สม่ำเสมอโดยบุคลากรทางด้านสุขภาพหลากหลายสาขาวิชาต่อผู้ป่วยโดยตรงในบ้านของผู้ป่วย


การเยี่ยมบ้าน (Home visit)
การเยี่ยมบ้าน หมายถึง วิธีการที่ใช้ในการดูแลสุขภาพที่บ้านซึ่งควรจะมีรูปแบบและวิธีการ เพื่อให้เกิดผลคุ้มค่ามากที่สุด แพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวเป็นบุคลากรหนึ่งในทีมเยี่ยมบ้าน ควรที่จะต้องมีความรู้, ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการเยี่ยมบ้านด้วยข้อบ่งชี้ในการเยี่ยมบ้าน  การที่จะเกิดการเยี่ยมบ้านได้ควรจะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
  1. ผู้ป่วยและครอบครัว  มีความเต็มใจให้เยี่ยมบ้าน
  2. ทีมบุคลากรสุขภาพ  มีความเต็มใจในการเยี่ยม
และควรอยู่บนพื้นฐานของระบบบริการปฐมภูมิอันได้แก่ ดูแลแต่แรกทุกเรื่อง, ต่อเนื่อง, เบ็ดเสร็จ, ผสมผสาน, บริการที่เข้าถึงสะดวก และมีระบบปรึกษาและส่งต่อชนิดของการเยี่ยมบ้าน
ผู้ป่วยลักษณะไหนบ้างที่ควรเยี่ยมบ้าน ที่เหมาะสมที่สุดน่าจะเป็นผู้ป่วยที่ติดบ้าน (homebound) คือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้หรือต้องใช้เครื่องช่วยเมื่อต้องการออกจากบ้าน แต่เราสามารถแบ่งประเภทของการดูแลสุขภาพโดยใช้วิธีการเยี่ยมบ้านได้เป็น 4 กลุ่ม คือ1. การเยี่ยมบ้านกรณีเจ็บป่วย การเจ็บป่วยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทได้แก่
  1. กรณีฉุกเฉิน การเยี่ยมบ้านประเภทนี้มักจะเป็นการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกับผู้ป่วยในครอบครัว เช่น หมดสติ, หอบมาก เป็นต้น  เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้มักต้องอาศัยการช่วยเหลือที่บ้านหรือที่เกิดเหตุทันที ต้องมีระบบการติดต่อสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ให้การช่วยเหลือ  ทีมที่ช่วยเหลือควรจะมีความรู้และทักษะเป็นอย่างดีในการช่วยเหลือเบื้องต้นในที่เกิดเหตุ ในประเทศไทยการช่วยเหลือลักษณะนี้มักจะพบในอุบัติเหตุตามท้องถนน  ผู้ช่วยเหลือควรจะมีความรู้ในการช่วยเหลือเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายมากขึ้นกว่าเดิมและช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยได้อย่างดี  ก่อนที่จะส่งต่อไปโรงพยาบาลเมื่อจำเป็น
  2. โรคฉับพลัน เช่น  โรคหวัด, ท้องร่วง เป็นต้น  การเยี่ยมบ้านจะช่วยประเมินและในการช่วยเหลือเบื้องต้น
  3. โรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, อัมพาต เป็นต้น  การเยี่ยมบ้านทำเพื่อประเมินและวางแผนในการช่วยเหลือให้กับผู้ป่วย, ญาติ หรือหน่วยงานใดในการช่วยเหลือผู้ป่วย
2. การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต
ผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย, โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น  จุดประสงค์ในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยประเภทนี้  ได้แก่
  1. การดูแลระยะสุดท้าย ผู้ป่วยประเภทนี้มักจะทรมานจากอาการปวดมาก, บวม หรือหอบ การช่วยเหลือผู้ป่วย เช่นให้ยาลดอาการปวด, ลดอาการบวมให้ผู้ป่วย, เจาะดูดน้ำในช่องท้อง, ให้ออกซิเจน เป็นต้น
  2. ประกาศการเสียชีวิต  เมื่อเกิดการเสียชีวิตในบ้านการบอกสาเหตุของการเสียชีวิตอาจจะผิดพลาดได้เนื่องจาก ผู้ประกาศการเสียชีวิตมักจะเป็นสมาชิกในครอบครัว  การเยี่ยมบ้านโดยแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวหรือทีมจะช่วยบอกสาเหตุการตายได้  และทำให้อัตราการตายที่รวบรวมไว้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น  เพื่อที่จะใช้บอกแนวโน้มการเสียชีวิตและวางแผนในการป้องกันโรคเหล่านั้น
  3. ประคับประคองภาวะโศกเศร้า  แพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวสามารถให้การประคับประคองทั้งร่างกายและจิตใจแก่สมาชิกในครอบครัว ตั้งแต่ระยะที่รู้ว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตจนถึงผู้ป่วยเสียชีวิตลงไป  และประเมินความผิดปกติที่เกิดขึ้นแก่สมาชิกในครอบครัว  เมื่อภาวะโศกเศร้าไม่หายไปในระยะเวลาที่สมควร
3. การเยี่ยมบ้านเพื่อประเมิน
แพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวใช้การเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย  ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพกายต้องประเมินการใช้ยาของผู้ป่วยซึ่งมักจะมีการใช้ยามาก ประเมินการใช้แหล่งบริการทางสุขภาพมากผู้ป่วยบางคนอาจนิยมไปหาหมอตามที่ต่างประเมินความเสี่ยงของสมาชิกในบ้านที่อาจจะถูกละลายหรือถูกทำร้ายจากสมาชิกในครอบครัวเช่น ผู้สูงอายุหรือเด็ก เป็นต้น  ประเมินผู้ป่วยที่จำเป็นต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล  ประเมินร่วมกับสมาชิกในครอบครัวเมื่อเกินความสามารถของสมาชิกในครอบครัวจะดูแกผู้ป่วยได้

4.การเยี่ยมบ้านหลังจากออกจากโรงพยาบาล
ประเภทของการเยี่ยมบ้านหลังจากออกจากโรงพยาบาลจากการนอนโรงพยาบาลหรือมาตรวจที่แผนก ผู้ป่วยนอก ได้แก่
  1. นอนโรงพยาบาลโดยโรคฉับพลัน, อุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด  ผู้ป่วยที่มานอนโรงพยาบาลโดยโรคต่าง ๆ หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาล  สามารถที่จะติดตามเยี่ยมบ้านต่อได้ เช่น ในผู้ป่วยโรคฉับพลันเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น สามารถกลับบ้านได้แพทย์ประจำครอบครัวสามารถติดตามเยี่ยมบ้าน เพื่อดูอาการหรือปัจจัยบางอย่างที่มีผลต่อโรคผู้ป่วย  ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกการติดตามการเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินอาการผู้ป่วย  ประเมินแหล่งที่จะเป็นที่วางไข่ของยุง เป็นต้น  กรณีผู้ป่วยอุบัติเหตุหรือผ่าตัด  การติดตามการเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินบาดแผล, ทำแผลผู้ป่วย, ตัดไหม หรือประเมินสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  2. ครอบครัวและบุตรที่เกิดใหม่ การเยี่ยมบ้านครอบครัวที่มีบุตรเกิดใหม่เพื่อช่วยเหลือพ่อ,แม่ที่มีบุตรใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ ในการดูแลลูก  รวมถึงการประเมินสิ่งแวดล้อมในครอบครัว  เพื่อให้เกิดการดูแลเกิดใหม่อย่างดี
  3. ไม่มาตามนัด ผู้ป่วยที่ขาดนัดหรือไม่มาตามนัด  การเยี่ยมบ้านจะช่วยประเมินสาเหตุหรือเหตุผลของผู้ป่วยที่ไม่มาตามนัด  หรือมีเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยไม่สามารถมาได้เพื่อทำให้การความต่อเนื่องของการรักษาได้ดียิ่งขึ้น
แนวทางการเยี่ยมบ้าน
การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยครั้งนี้เพื่ออธิบายสุขภาวะของผู้ป่วยและครอบครัวจากการเจ็บป่วย ที่สัมพันธ์กับปัจจัยสุขภาพ (health determinants) และระบบบริการสุขภาพ การเยี่ยมบ้านจะต้องเกิดจากความยินยอมของสองฝ่ายคือฝ่ายผู้เยี่ยมและฝ่ายผู้ถูกเยี่ยมมีความยินยอม พร้อมใจกัน เมื่อเลือกครอบครัวที่จะเยี่ยมแล้วแนวทางในการเยี่ยมแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
  1. ขั้นตอนก่อนการเยี่ยมบ้าน ประกอบด้วย มีวัตถุประสงค์ในการเยี่ยม, ศึกษาข้อมูลของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว,มีแผ่นที่การเดินทางและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ป่วย, โทรศัพท์หรือติดต่อนัดหมายเวลาเยี่ยม, มีพาหนะที่ใช้ในการเยี่ยม ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
  2. ขั้นตอนขณะเยี่ยมบ้าน ประเมินทั้งด้านร่างกาย, จิตใจ และสิ่งแวดล้อม ของครอบครัว
  3. ขั้นตอนหลังการเยี่ยมบ้าน สรุปปัญหาทางด้านร่างกาย, จิตใจและสังคม, แนวทางการเยี่ยมครั้งต่อไป, บันทึกข้อมูล
ก่อนการเยี่ยมบ้านทีมเยี่ยมบ้านควรจะมีความรู้หรือข้อมูลและเตรียมอุปกรณ์ในการเยี่ยมบ้านวัตถุประสงค์ของการเยี่ยม
  1. ศึกษาองค์ประกอบของสุขภาพ (health determinants) ที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของผู้ป่วย
  2. ทำความเข้าใจถึงประสบการณ์ ปัญหาและสภาวะต่างๆ ในทุกมิติของสุขภาพ ที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยและครอบครัวรวมทั้งการดูแลตนเอง หลังจากมีอาการเจ็บป่วย 
  3. อธิบายความคาดหวังของผู้ป่วยและครอบครัวที่มีต่อการเจ็บป่วยและจากแพทย์ / ระบบบริการปฐมภูมิ
อุปกรณ์ในการเยี่ยมบ้าน  การไปเยี่ยมบ้านควรมีอุปกรณ์สำหรับเยี่ยมบ้าน ได้แก่
  • แผนที่ในการเดินทาง, หมายเลขโทรศัพท์
  • สมุดบันทึก
  • กล้องถ่ายรูป / VDO
  • แผนที่การเดินทางและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ป่วย
ก่อนการเยี่ยมบ้านควรจะทราบทางที่จะไปบ้านที่จะไปเยี่ยมหรือมีแผ่นที่เดินทางไปยังบ้าน  หรือมีแผ่นที่การเดินทางภายในเขตที่จะเยี่ยมทำให้สะดวกและประหยัดเวลาในการเยี่ยม ควรจะทราบหมายเลขโทรศัพท์ของบ้านที่จะเยี่ยม กรณีไม่มีอาจจะขอหมายเลขโทรศัพท์ของบ้านใกล้เคียงเพื่อใช้ในการติดต่อโทรศัพท์หรือติดต่อนัดหมายเวลาเยี่ยม
โทรศัพท์นัดหมายเวลาเยี่ยมครอบครัวหรือติดต่อกับครอบครัวที่จะเยี่ยมก่อน  เพื่อไม่ต้องเสียเวลาในการไปเยี่ยมเมื่อไม่มีสมาชิกในบ้านอยู่  หรือกรณีที่สมาชิกในบ้านหรือผู้ป่วยไม่สะดวกที่จะให้เยี่ยมบางเวลา  และครอบครัวควรต้องมีเบอร์ติดต่อของผู้เยี่ยมด้วยเพื่อใช้ในการติดต่อกลับ กรณีที่สมาชิกของครอบครัวต้องการติดต่อกลับเพื่อปรึกษาหรือต้องการให้เยี่ยม  โดยมีข้อตกลงของการให้บริการทั้ง 2 ฝ่ายก่อน

ขั้นตอนขณะเยี่ยมบ้าน
การที่จะประเมินให้ได้ครบถ้วนอาจต้องใช้สิ่งช่วยจำ เช่น จำตัวย่อINHOMESSS หรือจำเป็นระบบร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ (bio psycho social spiritual) สิ่งที่ควรทำ คือ การเริ่มจากทบทวนวัตถุประสงค์ของการเยี่ยมร่วมกับสมาชิกครอบครัว  

ประเมินปัญหาเดิมของผู้ป่วยและปัญหาใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น
  • การเคลื่อนไหว(immobility)ได้แก่ การประเมินกิจวัตรประจำวัน(Activities of daily living)ได้แก่การอาบน้ำ, การเคลื่อนย้าย, การแต่งตัว, การเข้าห้องน้ำ, การกินอาหาร และการปัสสาวะและอุจจาระหรือประเมินการใช้เครื่องมือในกิจวัตรประจำวัน(Instrumental activities of daily living)ได้แก่  การใช้โทรศัพท์, การรับประทานยา, การไปตลาด, ชำระบิล, เตรียมอาหาร และทำงานบ้าน  สามารถสอบถามหรือสังเกตจากกิจวัตรประจำวันได้
  • อาหาร(nutrition) ได้แก่ การประเมินลักษณะอาหาร, ชนิดของอาหาร ที่ผู้ป่วยและครอบครัวรับประทานว่าเหมาะสมกับโรคหรือภาวะที่เป็นหรือไม่  ประเมินการเก็บอาหาร เป็นต้น
  • สภาพบ้าน(housing) ได้แก่ การประเมินสภาพบ้านครอบครัวที่นิสิตดูแล  ว่าเหมาะสมกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นหรือไม่ เช่น ผู้ป่วยเป็นวัณโรคควรอยู่ในห้องที่มีหน้าต่าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก, ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมควรที่จะนอนอยู่ชั้น1ของบ้านไม่เดินขึ้นบันได เป็นต้น
  • เพื่อนบ้าน(other people) ได้แก่ การประเมินดูเพื่อนบ้านของครอบครัวที่นิสิตดูแล  ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อครอบครัวผู้ป่วยมีปัญหา เพื่อนบ้านสามารถให้การช่วยเหลือได้หรือไม่
  • การใช้ยา(medication) ได้แก่ ประเมินวิธีการใช้ยา  ผู้ป่วยกินยาสม่ำเสมอและถูกต้องหรือไม่  ภาชนะที่บรรจุยาเหมาะสมกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นหรือไม่หรือเหมาะสมกับยานั้นหรือไม่ เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคข้อการหยิบยาจากซองยาทำได้ยากต้องบรรจุยาไว้ในขวดยา  ยาบางอย่างไม่ให้ถูกแสง เป็นต้น
  • การตรวจร่างกาย(examination)  ได้แก่ ประเมินจากการสอบถามความผิดปกติของร่างกาย จากผู้ป่วย หรือญาติ
  • แหล่งให้บริการ(services) ได้แก่ การประเมินว่ามีแหล่งบริการอะไรบ้างที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วย ภายในครอบครัวหรือในชุมชนได้ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข, บ้านประธานชุมชน, อสม. เป็นต้น
  • ความปลอดภัย(safety) ได้แก่ การประเมินสภาพบ้านของผู้ป่วยตัวบ้าน, เฟอร์นิเจอร์, อุปกรณ์อำนวยความสะดวก  เป็นต้น  ว่ามีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับครอบครัว ในการอยู่อาศัยเหลือไม่ เช่น สายไฟที่เดินในบ้านใช้มานานควรจะเปลี่ยนหรือไม่, พื้นห้องน้ำลื่นเกินไปหรือไม่, บันไดบ้านชันหรือมีราวให้จับหรือไม่ เป็นต้น
  • จิตวิญญาณ(spiritual) ได้แก่  การประเมินในเรื่องของการค้นหาความหมาย, วัตถุประสงค์และความจริงในชีวิต  ความเชื่อและคุณค่าในสิ่งที่แต่ละบุคคลอาศัยอยู่  เรื่องของความรู้สึก  สิ่งที่อยู่ในจิตใจ  รวมถึงสิ่งที่บุคคลแสดงออกมาจากความเชื่อ ทางจิตวิญญาณของแต่ละบุคคล ส่วนของจิตวิญญาณจะมีผลต่อสุขภาพได้ เช่น นิกายในศาสนาบางนิกายห้ามเติมเลือดจากผู้อื่น  เมื่อผู้ป่วยท่านนั้นจำเป็นต้องผ่าตัด อาจต้องเตรียมการใช้เลือดของผู้ป่วยเองเมื่อจำเป็น เป็นต้น
Share
   
© กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวและบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย