โครงการผู้สูงอายุสืบสานตำนานนครไทย สู่วิถีชีวิตการสร้างสุขภาพ ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลนครไทย
- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 19 พฤศจิกายน 2556 02:20
- ฮิต: 4781
ผู้รับผิดชอบโครงการ : | นางศศิธร เป้รอด | |
ปี พศ. : | 2550 | |
หน่วยงาน : | โรงพยาบาล : โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย | |
จังหวัด : | พิษณุโลก | |
ประเภทนวัตกรรม : | นวัตกรรมบริการปฐมภูมิในประเด็นรูปแบบการดูแลสุขภาพในครอบครัว | |
รายงานผลการดำเนินงานของโครงการ |
||
รายละเอียดโครงการ :
หลักการและเหตุผล อำเภอนครไทย เป็นเมืองเก่าที่มีตำนานเล่าขานกันว่ามีมาแต่ก่อนสมัยสุโขทัย ที่เดิมถูกขอมรุกราน แล้วมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองบางยาง โดยมีพ่อขุนบางกลางหาวเป็นผู้นำ เมืองบางยางได้เปลี่ยนชื่อเป็น เมืองนครไทย ต่อมาได้ตัดคำว่า "เมือง" ออก จึงเหลือแต่คำว่า "นครไทย" อำเภอนครไทย ตั้งอยู่ระหว่างภาคเหนือกับภาคอีสาน ทำให้คนนครไทยมีภาษาพูดเป็นของตนเอง เรียกว่า "ภาษานครไทย" ซึ่งมีสำเนียงก้ำกึ่งระหว่างภาษาของชาวเหนือและชาวอีสาน เหล่านี้จึงเป็นที่มาของคำขวัญอำเภอนครไทยว่า "พ่อขุนบางกลางท่าวเจ้านคร ดินแดนอนุสรณ์ภูร่องกล้า จำปาขาวสวยสุดสะดุดตา ประเพณีปวงข้าปักธงชัย" นอกจากนี้ยังมีประเพณีต่างๆที่เป็นเอกลักษณ์มากมาย เช่น ประเพณีเลี้ยงปู่ เพื่อแสดงความเคารพบรรพบุรุษ ประเพณีปักธงชัย ณ ผาชูธง (เขาช้างล้วง) ประเพณีทำแลแห่นาค มีบทเพลงพื้นบ้านสำหรับการกล่อมนาค เพลงกล่อมเด็ก การเล่นเพลง ต่อเพลง ของหนุ่มสาวในยุคนั้น เช่น เพลงพวงมาลัย เพลงพินเลเล นอกจากนี้ ยังมีอาหารพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ไข่ป่าม แกงคั่วขนุน แกงคั่วหน่อไม้ (ใบย่านาง) ผักพื้นบ้านจิ้มน้ำพริก แขนบปลา หมกปลา (ห่อหมกปลา) เนื่องจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนนครไทย มีลำน้ำแควน้อยไหลผ่าน มีปลาอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ชาวบ้านผู้หญิงจะชอบยกยอหาปลาเวลาน้ำหลาก มีมากก็จะแบ่งปันกันในละแวกพี่น้องหรือคนใกล้เคียง เป็นต้น จากวิถีชีวิตของคนนครไทยสมัยดั้งเดิม ทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านั้นมีสุขภาพดี อายุยืน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่ปัจจุบัน สังคมวัฒนธรรมแบบนิยมวัตถุ ได้คืบคลานเข้ามาลบเลือนความเป็นคนเมืองเก่าสมัยบรรพบุรุษก่อนสุโขทัย ที่มีการดำเนินชีวิตแบบเก่าก็เฉพาะคนที่อายุเข้าสู่วัยสูงอายุไปแล้ว ลูกหลาน ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ เกิดวัฒนธรรมใหม่ ที่ทอดทิ้งพ่อแม่ให้อยู่ตามลำพัง หรืออยู่กับเด็กเล็ก ขาดผู้รับช่วงการสืบสานประเพณีดั้งเดิมที่กำลังจะถูกลืม ตำบลนครไทยเป็นพื้นที่ในเขตเทศบาล มี 13 หมู่บ้าน ประชาชน 10,664 คน 3,572 หลังคาเรือน ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนตำบลนครไทย ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงาน ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย โรคเลือดจางในหญิงตั้งครรภ์ และโรคไข้เลือดออก มีอัตราป่วยโรคไข้เลือดออก 78.16 ต่อแสนประชากร มีอัตราความชุกของโรคความดันโลหิตสูง 134 ต่อพันประชากร อัตราความชุกโรคเบาหวาน 46.22 ต่อพันประชากร จากการสำรวจพบว่าผู้ที่เป็นโรค มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ร้อยละ 11.05 มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารพบว่าพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้แก่ กินอาหารมัน ร้อยละ 14.58 กินอาหารเค็ม ร้อยละ 10.84 กินอาหารหวาน ร้อยละ 7.43 ไม่ออกกำลังกาย ร้อยละ 8.4 ดื่มสุรา ร้อยละ 7.53 สูบบุหรี่ ร้อยละ 6.07 เครียด ร้อยละ 5.75 ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลนครไทย ได้มีการดำเนินงานการสร้างสุขภาพประชาชน การป้องกันควบคุมโรค โดยการสร้างภาคีเครือข่ายพันธมิตรสร้างสุขภาพในชุมชน ได้แก่ ชมรม อสม. ชมรม อย.น้อย ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ผู้นำชุมชนต่างๆ เป็นต้น การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน โดยการจัดอบรมพัฒนาความรู้และทักษะ เช่น การวัดความดันโลหิตสูง การคิดค่าดัชนีมวลกาย การวัดรอบเอว การตรวจอาหารเพื่อหาสารปนเปื้อน การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยและผู้สูงอายุ การคัดกรองสุขภาพประจำปีและการส่งต่อผู้ป่วย การสำรวจและดูแลสุขภาพในช่องปาก เป็นต้น การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิด พลังปัญญา นำความรู้ที่ได้สู่การปฏิบัติ เช่น 1. อสม. สำเนียง ขาวเครือม่วง เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ แล้วได้รับคำอวยชัยให้พรจากผู้สูงอายุมีความรู้สึกปลาบปลื้มใจและได้ค้นพบว่า นี่แหละ คือ ค่าตอบแทนของ อสม. และยินดีที่จะชวนเพื่อนๆ อสม. ให้ดำเนินกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีต่อไป 2. ปู่วิชญ์ ใจสะอาด อายุ 74 ปี เป็นประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลนครไทย อุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน เป็นแกนนำหลักของโครงการกองทุนวันละบาทของต.นครไทย ,อ.นครไทย และ จ.พิษณุโลก เดินทางเผยแพร่กลเม็ดเคล็ดลับการดำเนินงานของโครงการอยู่บ่อยครั้ง เป็นไวยาวัจน์กรของวัดกลาง นั่งสมาธิ สวดมนต์เป็นประจำ รับประทานอาหารที่เตรียมวัตถุดิบและปรุงเอง ออกกำลังกายไม้พลองและแอโรบิกสำหรับผู้สูงอายุ ทำให้ปู่มีอารมณ์ดี สุขภาพดี อายุยืน เพราะสมาธิเป็นธรรมโอสถ ช่วยพัฒนาความรู้สึกนึกคิดด้านจิตใจและพฤติกรรมเป็นอย่างดียิ่ง 3. พี่สมนึก กลับกลายดี อสม.ดีเด่น ด้านการออกกำลังกาย ที่จุดเริ่มต้นจากมาออกกำลังกายที่ชมรมแอโรบิกของโรงพยาบาลก่อน และปฏิบัติสม่ำเสมอรวมทั้งสนใจใฝ่รู้ เข้ารับการอบรมเรื่องของการออกกำลังกายอยู่เนืองๆ จนได้รับการยอมรับจากกลุ่มให้เป็นผู้นำการออกกำลังกายถึง 2 ลานออกกำลัง นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำทีมในการล่ารางวัลในกิจกรรมรณรงค์สร้างสุขภาพต่างๆ ผลที่ได้คือ คว้ารางวัลมาเกือบทุกสนาม 4. คุณยายทอง ม่วงแก่น อายุ 84 ปี เป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านร่วมกับ คุณยายอำไพ แก้วมงคล อายุ 78 ปี ปัจจุบัน ทั้ง 2 ท่าน มีสุขภาพแข็งแรงดี จะมีก็แต่ความเสื่อมที่เป็นไปตามวัยเท่านั้น การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเป็นแหล่งที่จุดประกายการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทำให้ทุกคนอยากรู้ว่าทำไมบุคคลที่กล่าวมาแล้วเหล่านี้จึงมีสุขภาพดีซึ่งแต่ละบุคคลจะมีเคล็ดลับในการดูแลส่งเสริมสุขภาพของตนเองในส่วนที่ตนเองชอบ เคยชิน ที่ต่างกัน แต่ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น ทุกข์ภาวะของคนพิษณุโลก (จากบทสรุป 9 เวที 9 อำเภอ) ได้ค้นพบว่า วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทุนทางสังคมที่ถูกทำลาย จากการดำรงชีวิตที่ห่างเหินกัน การขาดความรัก ไม่เอื้ออาทร แย่งชิงกัน ประกอบกับมีเทคโนโลยีเข้ามา คนจึงชอบความสะดวกสบาย เป็นจุดเริ่มให้ชุมชนอ่อนแอ ผู้นำอ่อนแอ ขาดจิตสำนึกพลเมืองดี ปัญหารุมเร้ามากขึ้น ส่วนทางด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม คนเริ่มไม่สนใจประวัติศาสตร์ ขาดรากเหง้าทางความคิด ขาดสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิด ไม่มีระบบถ่ายทอดภูมิปัญญา ทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งแหล่งน้ำและป่าไม้ถูกทำลาย มีขยะมากขึ้น คนที่เจ็บป่วยไม่พึ่งการดูแลตนเองก่อน ความเจ็บป่วยเกิดขึ้นเนื่องจากค่านิยมการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป กินอาหารตามฝรั่ง อาหารไม่ปลอดภัยปนเปื้อนสารเคมี ไม่ออกกำลังกาย ชีวิตประจำวันมีแต่ความเครียด รายได้ต่ำ รายจ่ายมาก รถติด ขาดการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง คนป่วยจึงมากขึ้น ทำให้คนแน่นโรงพยาบาล คนตายด้วยโรคแปลกๆเพิ่มขึ้น ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลนครไทย ได้มีการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชนส่งเสริมให้ประชาชนสร้างสุขภาพดีด้วย 6 อ. ตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ อาหารปลอดภัย อนามัยสิ่งแวดล้อม ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง อารมณ์ดี อโรคยา และอบายมุข (การพนัน เด็กติดเกม การติดสารเสพติดต่างๆ ได้แก่ บุหรี่ สุรา ฯลฯ) การที่จะให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ด้านการสร้างสุขภาพให้ครบ 6 อ. นั้นต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ปฏิบัติการเชิงรุกให้มากขึ้น หาแนวร่วมในการทำงานให้ได้มากที่สุด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและทุกเครือข่าย โดยเฉพาะตัวประชาชนเอง กิจกรรมต้องเป็นกิจกรรมที่ประชาชนทำแล้วมีความสุข สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน บทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานโครงการ PCU ในฝัน ปี 2548 ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปรับกระบวนทัศน์การทำงาน หันมาเริ่มวิเคราะห์ตนเอง ศักยภาพและทุนในชุมชนว่าอยู่ในระดับใด การทำงานที่มีภาคีต่างๆ มาอยู่ในแนวราบและทำงานในลักษณะประชาสังคม น่าจะเป็นพลังนำสู่การพัฒนาศักยภาพให้บรรลุเป้าหมายได้ การพัฒนาที่เน้นการเชื่อมประสานและถักทอเครือข่ายพันธมิตรการสร้างสุขภาพทั้งแนวราบและแนวดิ่งให้เกิดการผนึกกำลัง ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างสุขภาพของภาคประชาชนที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งพื้นที่ดำเนินการครอบคลุมทั้งตำบลและหมู่บ้าน การดำเนินงานตามแนวทางนี้ ช่วยเสริมหนุนกลยุทธ์การดำเนินงานข้อที่ 1 คือ " การสร้างการมีส่วนร่วมของยุทธศาสตร์คนไทยแข็งแกร่ง เมืองไทยแข็งแรง (Healthy Thailand)" หมายถึง การสร้างพันธมิตรสร้างสุขภาพ จะเป็นตัวเชื่อมและตัวช่วยให้ยุทธศาสตร์บรรลุเป้าหมายได้ และจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ให้มีการส่งเสริมประชาชนทุกวัยเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการดูแลรับผิดชอบครอบครัว ผู้สูงอายุ และชุมชน รวมถึงการส่งเสริมให้มีกิจกรรมสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุกับคนทุกวัย โดยดำเนินการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และการกีฬา และในยุทธศาสตร์ที่ 3 ระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ มาตรการด้านครอบครัว ผู้ดูแล และการคุ้มครอง ส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุตำบลนครไทย ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลนครไทย ได้รวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรม ที่สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เช่น การร้องรำเพลงพื้นบ้าน แทนการออกกำลังกาย ได้ออกแรง ได้เหงื่อ มีความสนุกสนานไปด้วย ทุกคนมีใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้ม ได้พูดคุยกับคนวัยเดียวกัน ได้รำลึกถึงความหลังสมัยหนุ่มสาว ว่าร้องเพลงอะไรเกี้ยวพาราณสีกันบ้าง สมองจะได้ไม่เสื่อมในวัยสูงอายุ แต่สิ่งที่ขาดคือการสืบทอดประเพณีที่เป็นแม่แบบนี้ ผู้สูงอายุเริ่มมีความเครียดควบคู่ไปกับความสุขที่มีอยู่ชั่วขณะที่ได้ออกนอกบ้านมาพบปะสังสรรกัน บางครั้ง ถึงหน้างานประเพณีสงกรานต์ วันครอบครัว วันผู้สูงอายุ ลูกหลานถึงจะเห็นคุณค่า มาพาผู้เฒ่าไปร้องเพลงพื้นบ้านอวดว่าเรา- นครไทยก็มีของดี แล้วกิจกรรมก็เลือนหายไป คงเหลือไว้แต่ผู้สูงอายุนั่งจับกลุ่มคุยกันว่าเมื่อไรจะได้ไปอวดเพลงพื้นบ้านอีก ด้วยเหตุนี้ ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลนครไทยจึงเล็งเห็นและขอพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส นำสิ่งที่ผู้สูงอายุอยากทำแต่ขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มาจัดทำเป็นโครงการนี้ขึ้น โดยหวังผลว่ามีผู้สูงอายุมารวมกลุ่มกัน ร้องรำทำเพลง และหาเวทีที่จะเป็นกุศโลบายให้ รุ่นลูก และ รุ่นหลาน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างต่อเนื่องไม่เฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญเท่านั้น ผลที่ตามมาจาก อ.อารมณ์ น่าจะได้ กิจกรรม อ. อื่นๆ อีก ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน |